ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐอิตาลี

ความสัมพันธ์ทางด้านการทูต

ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิตาลีมาเป็นเวลานาน โดยไทยและอิตาลีได้ลงนามสนธิสัญญาฉบับแรกคือ สนธิสัญญาว่าด้วยมิตรภาพ การพาณิชย์ และการเดินเรือ (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation) ซึ่งได้ลงนามเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1868 ต่อมาอิตาลีได้แต่งตั้งกงสุลอิตาลีประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1886 (พ.ศ. 2429)
ความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-อิตาลีโดยทั่วไปดำเนินไปอย่างราบรื่น ทั้งสองฝ่ายไม่มีปัญหาขัดแย้งที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน นอกจากนั้น ได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนทั้งในระดับพระราชวงศ์ บุคคลสำคัญ และเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลทั้งสองประเทศอย่างสม่ำเสมอ

ความสัมพันธ์ทางการค้า

อิตาลีเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญลำดับที่· 17 ของไทย และเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 4 ในกลุ่มสหภาพยุโรป ในระยะ 4· ปีที่ผ่านมา ค.ศ. 2001-2004 การค้าระหว่างไทยกับอิตาลีมีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 1,719.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ค.ศ. 2004 การค้ารวมมีมูลค่า 2,346.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 1.22 ของการค้ารวมของไทย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 32.99 โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 334 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.·· ค.ศ. 2005 การค้ารวมมีมูลค่า 882.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17.15 โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 127.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา ปลาหมึกสดแช่เย็น/แช่แข็ง เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ อัญมณีและเครื่องประดับ ผ้าผืน เครื่องโทรสาร โทรพิมพ์ โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น

สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผ้าผืน ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ผลิตภัณฑ์โลหะ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ การทดสอบ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เป็นต้น

สินค้าส่งออกที่มีศักยภาพ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า ข้าว อาหารทะเลกระป๋อง ยานพาหนะอุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง อัญมณีและเครื่องประดับ และยางพารา เป็นต้น

สินค้านำเข้าที่มีศักยภาพ ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า น้ำมันดิบ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องมือเครื่องมือใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เครื่องบินและอุปกรณ์การบิน เป็นต้น

ตารางแสดงสินค้ารวม ส่งออก นำเข้า และดุลการค้า ดังเอกสารแนบ

ปัญหาและอุปสรรคทางการค้า อิตาลีเป็นประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป ทำให้เกิดปัญหาการค้าทวิภาคีระหว่างไทยและสหภาพยุโรป กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการค้าระหว่างไทยและอิตาลีด้วย แต่อิตาลีเป็นประเทศที่มีความเข้มงวดด้านกฎระเบียบการนำเข้ามากกว่าสมาชิกอื่นในสหภาพยุโรป เช่น ห้ามการใช้สาร EDTA ในอาหารทะเลกระป๋อง การระงับการนำเข้าอาหารทะเลแช่แข็งจากไทย เพราะตรวจพบเชื้อ Biotoxin เป็นต้น ผู้ส่งออกไทยจึงต้องระวังในสิ่งเหล่านี้เป็นพิเศษ อิตาลีเคยตรวจพบเชื้อ Vibrium Parahemoliticum ในปลาหมึก กุ้ง และปูสดแช่แข็งนำเข้าจากไทยและได้ใช้มาตรการกักกันสินค้าที่มีปัญหา เพื่อนำตัวอย่างไปตรวจวิเคราะห์ก่อน (automatic detention) หากไม่พบเชื้อโรคจะอนุญาตให้นำเข้าได้ การยกเลิกมาตรการดังกล่าวอยู่ในดุลพินิจของหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบ

ความสัมพันธ์ด้านการลงทุน การลงทุนจากอิตาลีในไทยที่ผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีจำนวนค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในหมวดผลิตภัณฑ์โลหะเครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง (อาทิ กิจการผลิตเครื่องจักร หรืออุปกรณ์สำหรับงานอุตสาหกรรมต่อเรือ การผลิตชิ้นส่วน ยานพาหนะ และการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ) การลงทุนในหมวดเคมีภัณฑ์กระดาษและพลาสติก และการลงทุนในหมวดอุตสาหกรรมเบา (อาทิ การผลิตเครื่องประดับ การผลิตรองเท้า การผลิตเครื่องกีฬา การผลิตของเด็กเล่น เป็นต้น)
ปัจจุบันโครงการความร่วมมือไทย-อิตาลีที่สำคัญ ได้แก่ โครงการผลิตเหล็กกล้าระหว่างบริษัทสหวิริยากับบริษัท Duferco กลุ่มบริษัท Premier (รถบรรทุก Iveco) บริษัท HMC Polymer บริษัท Euro-Thai Medical Equipment และบริษัท Savio Thailand
บริษัทน้ำมันแห่งชาติอิตาลี (ENI) แสดงความสนใจซื้อหุ้นโรงกลั่นน้ำมันที่ระยองของสตาร์หรือบางจาก และโครงการรวบรวมน้ำมันเครื่องใช้แล้วมาใช้ใหม่ และยังชักชวนให้ปตท. ศึกษาความเป็นไปได้ในการวางท่อก๊าซจากพม่าไปบังคลาเทศและอินเดีย
บริษัท Rubber Flex Sdn. Bhd. ของอิตาลีซึ่งมีฐานการผลิตในมาเลเซีย กำลังอยู่ในระหว่างการเสนอโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุน โดยมีมูลค่าโครงการ 9.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งโรงงานผลิต extruded latex treads ในไทย (อาจจะเป็นที่ระยอง)บริษัท Pirelli Cables and System แสดงความสนใจที่จะขยายการลงทุนในด้านโทรคมนาคม พลังงาน และยางรถยนต์บริษัท Impregilo ซึ่งมีสาขาในไทย แสดงความสนใจที่จะขยายการลงทุนในด้านการก่อสร้าง สำหรับการลงทุนของไทยในอิตาลีนั้น กระทรวงพาณิชย์มีโครงการจัดทำศูนย์ขายส่งเฟอร์นิเจอร์ไทยที่เมืองฟลอเรนซ์ และมีบริษัท Bianchini ซึ่งเป็นผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้รายใหญ่ของเมืองฟลอเรนซ์สนใจนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพาราจากไทย และบริษัท La Tancia Firenze สนใจร่วมทุนกับบริษัท Siam Flowers เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิตไวน์และวัสดุห่อขวดไวน์ (วัสดุคล้ายต้นกกอบแห้ง)

ความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs)

รัฐบาลอิตาลีมีนโยบายสนับสนุนการดำเนินการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ให้มีบทบาทนำในกระบวนการเศรษฐกิจทั้งในระดับภายในและระหว่างประเทศ โดยอิตาลีเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Asia – Europe and Medium Enterprises Conference (AESMEC’98) ณ เมือง Naples ระหว่างวันที่ 28-30 พฤษภาคม ค.ศ.1998 โดยมีผู้แทนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกระทรวงการต่างประเทศ สนง.คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมไปร่วมการประชุม สืบเนื่องจากการประชุมดังกล่าวและจากข้อเสนอของอิตาลีในการประชุม SOM ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1998 ในกรอบ ASEM Trade Facilitation Action Plan (TFAP) กระทรวงการต่างประเทศของอิตาลีได้จัดการประชุม Industrial Districts and International Transfer of Technology as Means to Promote Trade in Goods and Services ที่เมือง Bari ในระหว่างวันที่ 4-5 ตุลาคม ค.ศ. 1999 ซึ่งไทยส่งผู้แทนไปร่วมการประชุมสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครมิลาน แจ้งว่าโดยทั่วไป SMEs ของอิตาลีจะมีเงินทุนน้อย ไม่สามารถเข้าไปลงทุนในต่างประเทศได้ และเป็นกลุ่มที่ผลิตสินค้าเพื่อส่งให้อุตสาหกรรมใหญ่ของตน ในแง่หนึ่งจึงเป็นคู่แข่งของไทย แต่อาจแสวงหาประโยชน์ในการเพิ่มความร่วมมือกับฝ่ายอิตาลีได้ อาทิ การร่วมทุนกระทรวงการต่างประเทศมีโครงการจะนำคณะผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนด้าน SMEs โดยมีฯพณฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการเป็นหัวหน้าคณะ เพื่อหาลู่ทางพัฒนาและขยายความร่วมมือด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็กระหว่างไทยกับยุโรป ซึ่งจะจัดการสัมมนาทางธุรกิจและการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching)โดยหนึ่งในเมืองที่จะดำเนินโครงการนี้ คือที่มิลาน เนื่องจากภาคตะวันออกของอิตาลีเป็นประเทศที่มีแนวนโยบายส่งเสริม SME ที่เป็นตัวอย่างที่ดีและน่าศึกษาของการพัฒนา SME ในแบบกลุ่ม (clusters) จนเป็นที่รู้จักกันในนามของ Third Italy โดยมีกำหนดจะจัดในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1999 แต่เลื่อนออกไป

กลไกของความร่วมมือ ไทยและอิตาลีได้ลงนามความตกลงพื้นฐานว่าด้วยความร่วมมือไทย-อิตาลี (the Basic Agreement on Cooperation between the Kingdom of Thailand and the Republic of Italy) ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1983 กำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม (JC) ในระดับของรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ โดยไทยและอิตาลีจะสลับกันเป็นเจ้าภาพการประชุมทุก 2 ปี ซึ่งได้มีการประชุม JC มาแล้ว 4 ครั้ง (ค.ศ. 1984, ค.ศ. 1986, ค.ศ.1989, ค.ศ.1998) โดยการประชุม JC ครั้งที่ 5 กำหนดมีขึ้นที่กรุงเทพฯ ในภาคเอกชนมีกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจที่สำคัญคือ ความตกลงว่าด้วย การจัดตั้งคณะมนตรีธุรกิจไทย-อิตาลีระหว่างสภาอุตสาหกรรมไทยกับ CONFINDUSTRIA ของอิตาลีลงนามเมื่อ 14 มีนาคม ค.ศ.1994 และข้อตกลงความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และเทคโนโลยีระหว่างสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยกับสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอ (Federtessile) ของ อิตาลี ลงนามเมื่อ 27 มีนาคม ค.ศ.1999

การท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยวอิตาลีจัดอยู่ในกลุ่มตลาดหลักของไทยซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 16 และมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.32 มีอัตราการเติบโตโดยรวมในรอบ 13 ปีที่ร้อยละ 6.68 นักท่องเที่ยวอิตาลีมีระยะพำนักและมีค่าใช้จ่ายต่อการเดินทางประมาณ 980 ดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เกิดรายได้เข้าประเทศปีละ 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสถิติในปี 2546(ค.ศ. 2003) มีนักท่องเที่ยวอิตาลีเดินทางมาไทยจำนวน 93,079 คน และปี 2547 (ค.ศ. 2004) มีจำนวน 119,639 คน ปัจจุบันไทยอยู่ในกลุ่ม 25 ประเทศแรกที่ชาวอิตาลีเลือกเดินทางไปท่องเที่ยว และจำนวนนักท่องเที่ยวจากอิตาลีมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากในปัจจุบัน สายการบินไทยได้เปิดเส้นทางการบินใหม่ กรุงเทพฯ-มิลาน สัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน จากเดิมซึ่งทำการบินจากโรมเข้าสู่กรุงเทพฯ ทั้งสิ้น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ไทยมีศักยภาพที่จะรองรับนักท่องเที่ยวอิตาลีทั้งในกลุ่มตลาดแบบเดิมและกลุ่ม niche market อาทิ กลุ่ม MICE (Meetings, Incentives, Conferences, Exhibitions) เช่นชมรมดำน้ำ โครงการตรวจสุขภาพ (physical check-up) และท่องเที่ยวในไทย ซึ่งเป็นแผนดำเนินกิจกรรมด้านการตลาดของไทยในปัจจุบัน

ความตกลง

ความตกลงที่เสร็จสิ้นแล้ว
  • ความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ (มีผล 15 ธันวาคม ค.ศ. 1955)
  • สนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอิตาลี (ลงนามเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1984)
  • ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งกำลังบำรุงทหารไทย-อิตาลี ฝ่ายอิตาลีเสนอมาเมื่อปี ค.ศ. 1990 และรื้อฟื้นในปี ค.ศ. 1994
  • ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการเงิน ลงนามเมื่อ 22 เมษายน ค.ศ.1988
  • ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการลงทุนไทย-อิตาลี ลงนามเมื่อมีนาคม ค.ศ. 1992 ระหว่าง BOI กับ Italian Trade Commission กระทรวงการค้าอิตาลี
  • ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะมนตรีธุรกิจไทย-อิตาลี ลงนามเมื่อ 14 มีนาคม ค.ศ. 1994 ระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสมาพันธ์อุตสาหกรรมแห่งอิตาลี (CONFINDUSTRIA)
  • ข้อตกลงความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และเทคโนโลยี ระหว่างสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย กับสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอของอิตาลีเมื่อ 27 มีนาคม ค.ศ. 1999
  • ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ลงนามเมื่อ 22 กันยายน ค.ศ. 2004
  • บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ลงนามเมื่อ 22 กันยายน ค.ศ. 2004

 

ความร่วมมือไทย-อิตาลี

ความร่วมมือทางทหาร
  • ไทยสั่งซื้อเรือทำลายทุ่นระเบิดจำนวน 2 ลำจากบริษัท Intermarine ของอิตาลี โดยส่งมอบลำแรกเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1999 และส่งมอบลำที่ 2 (ร.ล. ท่าดินแดง) เมื่อเดือนมิถุยายน ค.ศ. 1999
  • บริษัทอู่ต่อเรือ Fincantieri เสนอถ่ายทอดเทคโนโลยี (เฉพาะเรือรบ) ให้บริษัทอู่ต่อเรือของไทย โดยไม่คิดมูลค่า
ความร่วมมือด้านวิชาการ

ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างไทย-อิตาลี ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1985-1994 มีหน่วยงานต่างๆได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอิตาลีจำนวน 11 โครงการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน และมีบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร คมนาคม สาธารณูปโภค อาชีวศึกษา และการแพทย์

ความร่วมมือในรูปของทุนฝึกอบรม/ดูงาน

รัฐบาลอิตาลีได้จัดสรรทุนด้านพลังงาน การเกษตร เศรษฐศาสตร์ อาชีวศึกษา การโรงแรมและท่องเที่ยว ให้แก่ไทยค่อนข้างสม่ำเสมอจนถึงปี ค.ศ. 1993 และหยุดไประยะหนึ่งในช่วง ปี ค.ศ. 1994-1997 และเริ่มให้ทุนการศึกษาใหม่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 เป็นต้นมา

  • สถานเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย มีทุนการศึกษาให้นักศึกษาไทยประมาณปีละ 5 ทุน ในระดับปริญญาตรีและ post graduate โดยให้ในสาขาวิชาต่างๆ ตามแต่จะได้รับมาจากสถาบันอุดมศึกษาของอิตาลี
  • มูลนิธิโครงการหลวงได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอิตาลี ในโครงการartichokes

 

ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม

ไทยและอิตาลีมีความร่วมมือด้านวัฒนธรรมมานาน โดยในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ไทยได้ว่าจ้างสถาปนิก จิตรกร และศิลปินชาวอิตาเลียนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบอาคาร สถานที่สำคัญๆ ของไทย อาทิ พระที่นั่งอนันตสมาคม ทำเนียบรัฐบาล บ้านพิษณุโลก กระทรวงกลาโหม สถานีรถไฟหัวลำโพง วังบางขุนพรหม พระที่นั่งอภิเษกดุสิต พระที่นั่งสวนอัมพร ห้องสมุดเนลสัน เฮยส์ สำหรับชาวอิตาเลียนที่มีบทบาทในวงการศิลปะของไทยมากที่สุดคือ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี (นาย Corrado Feroci) ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม และความร่วมมือในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นความร่วมมือในการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม ระหว่างสอท. อิตาลีประจำประเทศไทยและบริษัทต่างๆ ของอิตาลีในไทย ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ของไทยทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมหาวิทยาลัยของไทย อาทิ การประชุมอิตาเลียน-ไทย ครั้งที่ 1 เรื่อง “เส้นทางศิลปะวิทยาการอิตาเลียน-ไทย จากศตวรรษที่ 19 สู่ปัจจุบัน” โดยสอท. อิตาลีฯ จัดร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1997 ความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมที่เพิ่งผ่านมา มีอาทิ การจัดแสดงดนตรีของวง Rome String Quartet เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ โดยมีสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนคริทร์ เสด็จฯ เป็นองค์ประธาน โดยจัดที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1999 และในวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1999 สอท. อิตาลี ร่วมกับสายการบิน Alitalia หอการค้าไทย-อิตาลี และบริษัทอิตาลีต่างๆ จัดงาน “Italian Memorial Day” ขึ้นที่ถนนปั้น สีลม เพื่อระลึกถึงศิลปินชาวอิตาเลียนที่ได้สร้างสรรค์ผลงานในไทย โดยมีการแสดงดนตรีอิตาเลียน อาหารอิตาเลียน และการแสดงละครของนักศึกษาไทยในงาน ทั้งนี้สอท. อิตาลีมีโครงการจะจัดงานในลักษณะดังกล่าวเป็นประจำทุกปี
สถานเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย ได้มีส่วนร่วมในโครงการบูรณะ วังพญาไท (Phya Thai Palace Restoration Project) ของมูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า (Phra Mongkut Klao Hospital Foundation) โดยได้นำคณะผู้เชี่ยวชาญเชิงอนุรักษ์จากอิตาลีมาชมโครงการ และเสนอให้ความร่วมมือสนับสนุนการบูรณะ และต่อมา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม ได้ประสานเรื่องนี้ กับทางรัฐบาลอิตาลี ซึ่งได้ขอให้ทางโครงการฯ ประสานรายละเอียดกับฝ่ายอิตาลีโดยตรงต่อไป อนึ่ง จากการหารือของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยกับนาย Valentino Martelli รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลี ในระหว่างการประชุม UNGA สมัยที่ 54 เมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 1999 ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะให้มีการส่งเสริมความร่วมมือด้านวัฒนธรรมให้กระชับยิ่งขึ้น ปัจจุบันอิตาลีได้รับรองสถานะพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการ โดยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 2000 นายกรัฐมนตรีอิตาลีได้ลงนามความตกลงกับประธานสหภาพสมาคมพุทธในอิตาลี เพื่อให้พุทธศาสนามีสถานะเป็นทางการในอิตาลี ทำให้ผู้เสียภาษีสามารถแสดงความจำนงให้แบ่งภาษีในอัตราร้อยละ 0.8 ของภาษีรายได้ส่วนบุคคลที่ต้อง ชำระให้แก่รัฐบาล เพื่อบริจาคให้องค์กรทางพุทธศาสนาได้ ปัจจุบันมี พุทธศาสนิกชนในอิตาลีประมาณ 40,000 คน

ความร่วมมือระหว่างรัฐสภา

รัฐสภาไทยได้จัดตั้งกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-อิตาลี โดยมีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 77 คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 26 คน รวมสมาชิกสมทบอีก 16 คน โดยมีคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เป็นประธาน และนายสุพร สุภสร เป็นรองประธานคณะกรรมการบริหารในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 2001 ปัจจุบัน นาย Pier Ferdinando CASINI ดำรงตำแหน่ง President of the Chamber

การแลกเปลี่ยนการเยือน

ไทยและอิตาลีได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ

ฝ่ายไทย

ระดับพระราชวงศ์

  • ปี ค.ศ.1897 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ
  • 25 เม.ย – 24 พ.ค. ค.ศ. 1907 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จฯ เยือนอิตาลี
  • 28 ก.ย. - 1 ต.ค. ค.ศ. 1960 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยือนอิตาลีอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของประธานาธิบดี Giovanni Gronchi และ นรม. Amintore Fanfani
  • 8-14 ก.ย. ค.ศ. 1985 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนอิตาลีอย่างเป็นทางการตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลอิตาลี
  • 3-16 เม.ย. ค.ศ. 1988 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงรับเชิญเป็นกรรมการตัดสินหนังสือเด็กที่เมืองโบโลญญา และเป็นพระราชอาคันตุกะของรัฐบาลอิตาลี
  • 25 เม.ย. – 7 พ.ค. ค.ศ. 1996 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชครินทร์ เสด็จฯ เยือนอิตาลี (ส่วนพระองค์)
  • 25-29 ก.ค. ค.ศ. 1996 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนอิตาลี (ส่วนพระองค์)
  • 18-20 ก.พ. ค.ศ. 1996 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนอิตาลี
  • 23 ก.พ. – 1 มี.ค. ค.ศ. 1997 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนอิตาลี
  • 6-12 ต.ค. ค.ศ. 1997 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี เสด็จเยือนอิตาลี (ส่วนพระองค์)
  • 10-14 ต.ค. ค.ศ. 1997 และ 4-6 ส.ค. ค.ศ. 1999 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนอิตาลี (ส่วนพระองค์)
  • 12-16 มี.ค. ค.ศ. 2001 หม่อมเจ้าหญิงสิริวัณวรี มหิดล เสด็จเยือนอิตาลี (ส่วนพระองค์)
  • 8-11 เม.ย. ค.ศ. 2002 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนจังหวัดคาตาเนีย แคว้นซิซิลี ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของประธานจังหวัดคาตาเนีย
  • 27-30 ต.ค. ค.ศ. 2002 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยือนอิตาลี (ส่วนพระองค์)
  • 25 ก.ย.-5 ต.ค. ค.ศ. 2003 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี เสด็จเยือนอิตาลี
  • 24-29 ก.ย. ค.ศ. 2004 หม่อมเจ้าสิริวัณวรี มหิดล เสด็จฯ เยือนมิลานเพื่อร่วมงานวิถีแห่งเอเชีย
  • 11-14 ต.ค. ค.ศ. 2004· สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนอิตาลีเพื่อกล่าวเปิดการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการอาหารโลก ครั้งที่ 3 และรับการถวายตำแหน่ง Special Ambassador of the United Nations World Food Programme for School Feeding ระดับบุคคลสำคัญ
  • 20 - 21 ม.ค. ค.ศ. 1986 ร.ต.ประพาส ลิมปะพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-อิตาลี ครั้งที่ 2 ณ กรุงโรม
  • 19 - 21 ก.ย. ค.ศ. 1994 นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนอิตาลีอย่างเป็นทางการ
  • 4-5 ก.พ. ค.ศ. 1998 ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางเยือนอิตาลีในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ในการประชุม JC ไทย-อิตาลี ครั้งที่ 4 ณ กรุงโรม
  • 19 พ.ย. ค.ศ. 1998 ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เยือนอิตาลี เพื่อหาเสียงผ.อ. WTO
  • 14-16 พ.ย. ค.ศ. 1998 นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เยือนอิตาลี
  • 4-8 พ.ค. ค.ศ. 1998 นายวัฒนา อัศวเหม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ดูงานฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
  • ในปี ค.ศ. 1999 มีการเยือนของ นายสุทัศน์ เงินหมื่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (24 ก.พ. – 1 มี.ค.) นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (12-14 พ.ค.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ( 22 มิ.ย.) และนายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (10-14 พ.ย.) - ในปี ค.ศ. 2000 นายกร ทัพพะรังสี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเยือนอิตาลีระหว่างวันที่ 24-26 มี.ค. และ ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เยือนอิตาลีระหว่างวันที่ 6-9 เม.ย
  • 21-24 ต.ค. ค.ศ. 2003 นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรเยือนอิตาลี
  • 20-22 ก.ย. ค.ศ. 2004 นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีเยือนอิตาลี
  • 21-23 ก.ย. ค.ศ. 2004 พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนอิตาลีอย่างเป็นทางการ
  • 27-29 พ.ค. ค.ศ. 2005 นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรีเยือนอิตาลี
ฝ่ายอิตาลี
  •  7 - 8 พ.ค. ค.ศ. 1986 นาย Giulio Andreotti รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลีเยือนไทย
  • 19 - 21 ม.ค. ค.ศ. 1987 นาย Bruno Corti รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลีเยือนไทย
  • 12 - 17 ต.ค. ค.ศ. 1987 นาย Giulio Andreotti รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลีเข้าร่วมประชุมสหภาพรัฐสภาที่กรุงเทพฯ
  • 18 ก.พ. ค.ศ. 1990 นาย Gianni De Michelis รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลีเยือนไทยอย่างเป็นทางการ
  • ส.ค. ค.ศ. 1995 นาย Emmanuele Scammacca De Murgo รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลีเยือนไทยอย่างเป็นทางการ
  • 1 - 3 มี.ค. ค.ศ. 1996 นาย Lamberto Dini นายกรัฐมนตรีอิตาลี เข้าร่วมประชุมเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพฯ
  • 23-26 มี.ค. ค.ศ. 1998 นาง Patrizia Toia รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลีเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยคณะนักธุรกิจ
  • 11-12 ธ.ค. ค.ศ. 1998 นาย Oscar Luigi Scalfaro ประธานาธิบดีอิตาลี(ขณะนั้น) เยือนไทย (ส่วนตัว)
  • 1-2 เม.ย. ค.ศ. 1999 นาย Marco Pezzoni ประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศ รัฐสภาอิตาลี เยือนไทย
  • 27 ธ.ค. ค.ศ. 2002 - 2 ม.ค. ค.ศ. 2003 นาย Pier Ferdinando Casini ประธานสภาผู้แทนราษฎรอิตาลีเยือนไทย
  • 16-18 ก.พ. ค.ศ. 2003 นาง Margherita Boniver รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลีเยือนไทย
  • 28 ก.พ.-4 มี.ค. ค.ศ. 2003 นาย Silvatore Cicu รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมอิตาลีเยือนไทย
  • 14-15 ธ.ค. ค.ศ. 2003 นาง Margherita Boniver รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลีเยือนไทย
  • 18-19 ม.ค. ค.ศ. 2004 นาง Margherita Boniver รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลีเยือนไทยอย่างเป็นทางการ
  • 31 ส.ค.-1 ก.ย. ค.ศ. 2004 นาย Roberto Antonione รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลีเยือนไทย
  • 2-3 ธ.ค. ค.ศ. 2004 นาย Paolo Scarpa รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรอิตาลีเยือนไทย
  • 8-10 ม.ค. ค.ศ. 2005 นาง Margherita Boniver รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลีเยือนไทย
  • 21-22 ม.ค. ค.ศ. 2005 นาย Gianfranco Fini รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลีเยือนไทย และได้เข้าพบหารือกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย
web-booking-01 mod

Quick Links

visa application
official holidays
hotline
form
faq
faq
immigration

Follow us on:

fb icon tweeter

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม มีช่องทางการสื่อสารเพิ่มอีก 1 ช่องทาง คือ Twitter ซึ่งมีข่าวสำคัญจากสถานทูตฯ และกระทรวงการต่างประเทศ ขอเชิญ follow ได้ที่ Twitter Thailand in Italy หรือตามลิงค์นี้ https://twitter.com/RTERome

Follow us on Twitter Thailand in Italy the official account of the Royal Thai Embassy in Rome at https://twitter.com/RTERome.

thai community

thai select


negozi thai food

Who's Online

We have 6 guests and no members online