ถาม-ตอบ ปัญหากฎหมายในอิตาลี

การขออยู่ต่อในอิตาลี

ถาม - ได้วีซ่านักเรียนเข้ามาเรียนภาษาอิตาเลียนในอิตาลีและได้รับใบอนุญาตมีถิ่นพำนัก (Permesso di Soggiorno) จนจบคอร์สภาษาอิตาเลียน หากต้องการเรียนต่อระดับปริญญาโทที่อิตาลีสามารถยื่นเรื่องขอต่อ Permesso di Soggiorno ได้หรือไม่
ตอบ - ไม่ได้ หากได้รับวีซ่าเรียนภาษาอิตาเลียน เมื่อจบคอร์สภาษาแล้วต้องเดินทางกลับไทยก่อนเพื่อขอวีซ่านักเรียน/นักศึกษาและเดินทางกลับเข้ามาในอิตาลีใหม่ หลังจากนั้น จึงยื่นเรื่องขอ Permesso di Soggiorno ประเภทนักเรียน/นักศึกษาแบบปีต่อปีจนกระทั่งสำเร็จการศึกษา

ถาม วีซ่าท่องเที่ยวหมดอายุแล้ว จะอยู่ต่อในอิตาลีได้หรือไม่
ตอบ – ไม่ได้ เนื่องจากวีซ่าหมดอายุแล้ว ต้องเดินทางกลับไทยเพื่อขอวีซ่ากลับเข้ามาอิตาลีใหม่ โดยหากประสงค์จะอยู่นานกว่าระยะเวลาที่วีซ่าท่องเที่ยวกำหนด ก็อาจขอวีซ่าประเภทอื่นกลับเข้ามา เช่น กรณีที่มีญาติพี่น้องมาอยู่ที่อิตาลีเป็นเวลานานและมีถิ่นพำนักถาวร สามารถขอวีซ่าประเภทติดตามครอบครัวได้ แต่จะมีเอกสารและหลักฐานประกอบเพิ่มมากขึ้นกว่าวีซ่าท่องเที่ยว การลักลอบอยู่อาศัยในฐานะคนต่างด้าว (เนื่องจากวีซ่าหมดอายุ) หากถูกตำรวจจับกุมจะถูกดำเนินคดีก่อนส่งตัวกลับไทย และอาจถูกขึ้นบัญชีบุคคลต้องห้ามเข้าอิตาลี

การขอรับเงินบำนาญของคู่สมรส

ถามสามีชาวอิตาเลียนจดทะเบียนสมรสถูกต้องเสียชีวิตลง ภรรยาชาวไทยและบุตรมีสิทธิรับเงินบำนาญของสามีหรือไม่
ตอบ – ตามกฎหมายอิตาลีที่ออกมาเมื่อปี 2554 (l’Art. 18 comma 5) ภรรยาที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายมีสิทธิรับบำนาญของสามีที่เสียชีวิต โดยติดต่อหน่วยงานสวัสดิการสังคมแห่งชาตอิตาลี หรือ INPS สำหรับบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (อายุไม่เกิน 18 ปีตามกฎหมายอิตาลี) มีสิทธิรับบำนาญของบิดาเช่นกัน โดยเตรียมหลักฐานดังต่อไปนี้

  • ใบมรณบัตรของสามีทีเสียชีวิตแล้ว (Certificato di Morte)
  • ใบสำคัญการสมรส (Certificato di Matrimonio)
  • ทะเบียนบ้านในอิตาลี ที่มีการระบุวันที่เสียชีวิตของสามีด้วย (Stato di famiglia)
  • หนังสือรับรองจากอำเภอที่ระบุว่าไม่เคยทำเรื่องขอแยกทางกับสามีมาก่อน (กรณีที่สามี เป็นผู้กระทำผิด) หรือไม่เคยการจดทะเบียนสมรสใหม่กับบุคคลอื่นแต่อย่างใด (Dichiarazione di non avvenuta pronuncia di sentenza di separazione con addebito e non di avvenuto nuovo matrimonio)
  • หนังสือรับรองรายได้ของตนเอง (Dichiarazione Reddituale)
  • หนังสือรับรองว่ามียังชีวิตอยู่ (Certificato dell’esistenza in vita)
สิทธิในการดูแลบุตร

ถามหญิงไทยมีสามีชาวอิตาเลียนและมีบุตรด้วยกัน 1 คน ต่อมาหญิงไทยและสามีเสียชีวิตลง ญาติของฝ่ายสามีฟ้องร้องจะขอเป็นรับทรัพย์สินของสามี แต่ไม่รับสิทธิในการดูแลเด็กคนดังกล่าว สามารถทำได้หรือไม่
ตอบ – ขึ้นอยู่กับศาลจะพิจารณา แต่ญาติฝ่ายหญิงสามารถยื่นฟ้องขอรับสิทธิในการดูแลเด็กคนดังกล่าวได้ เนื่องจากมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับเด็ก หรือมารดาของเด็กอาจเคยแจ้งอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ โดยผู้ที่ได้รับสิทธิดูแลเด็กมักจะได้สิทธิในการจัดการทรัพย์สินของบิดาของเด็กด้วย ศาลมักจะไม่มีพิจารณาให้สิทธิในการดูแลทรัพย์สินเพียงอย่างเดียว โดยไม่ดูแลรับผิดชอบเด็ก

ความรับผิดชอบต่อที่พักอาศัย

ถาม - ได้ว่าจ้างช่างมาถอดเครื่องทำความร้อนภายในอพาร์ทเมนต์ออกไปเนื่องจากไม่ได้ใช้งาน และได้แจ้งให้ผู้จัดการอพาร์ทเมนต์ทราบโดยเขียนลงบนแผ่นกระดาษด้วยลายมือ หลายเดือนต่อมา ผู้จัดการยังคงส่งใบแจ้งหนี้ค่าใช้เครื่องทำความร้อนมาให้ชำระเป็นจำนวนมากกว่า 2 พันยูโร ควรทำอย่างไร
ตอบ - ผู้ร้องควรติดต่อไปยังบริษัทช่างที่ดำเนินการถอดเครื่องทำความร้อนดังกล่าวเพื่อขอรับเอกสารหรือใบรับรองแจ้งรายละเอียดการทำงานของช่างในวันดังกล่าวและนำไปมอบให้ผู้จัดการเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าไม่มีเครื่องทำความร้อนอยู่ในอพาร์ทเมนต์แล้ว

ถามเช่าอพาร์ทเมนต์คนอิตาเลียนอยู่ เกิดน้ำซึมจากห้องน้ำไปถึงห้องด้านล่าง ทำให้ฝ้าเพดานของห้องดังกล่าวเสียหาย ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมควรเป็นความรับผิดชอบของเจ้าของบ้านหรือผู้เช่า
ตอบ – ขึ้นอยู่กับสัญญาเช่าบ้าน ในกรณีทั่วไปที่ไม่ได้มีการระบุชัดเจน สิ่งของที่อยู่ในบ้าน สามารถแตกหักเคลื่อนย้ายได้ เช่น ของแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ขนาดเล็ก อุปกรณ์เครื่องใช้ หากผู้เช่าทำเสียหาย จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ สำหรับสิ่งของขนาดใหญ่อันเป็นส่วนประกอบของบ้าน เช่น กำแพง ฝาผนัง พื้น บันได ควรจะเป็นความรับผิดชอบของเจ้าของบ้าน อย่างไรก็ดี ในกรณีข้างต้น น่าจะเป็นความรับผิดชอบร่วมกันทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายเจ้าของบ้านและฝ่ายผู้เช่า ซึ่งเป็นผู้ใช้ห้องน้ำ

การขอสัญชาติอิตาลี

ถาม สามารถขอมีสัญชาติอิตาลีในกรณีใดบ้าง
ตอบ – มีสองกรณีสำคัญ คือ การได้สัญชาติจากการแต่งงานกับชายหรือหญิงชาวอิตาเลียน โดยต้องแต่งงานจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และอาศัยอยู่ในอิตาลีมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ปี และหากมีบุตรด้วยกัน จะลดระยะเวลาในการอยู่ด้วยกันเหลือเพียง 1 ปี กรณีที่สอง คือ มีหลักฐานว่ามีถิ่นพำนักในอิตาลีมาแล้วอย่างน้อย 10 ปี ส่วนลูกติดของคนไทยจะสามารถขอมีสัญชาติอิตาลีได้เมื่ออายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ โดยทุกกรณีสามารถยื่นเรื่องได้ที่ศาลากลางจังหวัดที่ตนมีถิ่นพำนักอยู่ มีค่าใช้จ่ายประมาณ 200 ยูโร

การเลี้ยงดู / สิทธิ สมาชิกในครอบครัว

ถามมารดาชาวไทยสามารถพาบุตรนอกสมรสกับบิดาชาวอิตาเลียนกลับไปอยู่ประเทศไทยได้หรือไม่
ตอบ – ได้ หากได้รับความยินยอมจากบิดา โดยบิดาชาวอิตาเลียนต้องลงนามในหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์ ในปกครองออกนอกประเทศ (L’Autolizzazione all’Espatrio del Minore) ที่สถานีตำรวจ (Questura) หากบุตร มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

ถาม - การยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อขอมีสิทธิในการดูแลบุตรแต่เพียงผู้เดียวจำเป็นต้องมีทนายหรือไม่ และต้องใช้เอกสารใดประกอบการยื่นฟ้องบ้าง
ตอบ - ตามกฎหมายข้อ 737 (Artt. 737) ต้องฟ้องร้องผ่านทนาย โดยเอกสารสำคัญที่ต้องมี คือ

  • สูติบัติของบุตร (Estratto Atto di Nascita del Minore)
  • ใบรับรองสถานะครอบครัวของบุตร (Stato di Famiglia del Minore)
  • ทะเบียนบ้าน ( Certificato di Residenza del Minore)
  • ทะเบียนบ้านของบิดาและมารดา ( Certificato di Residenza di Entrambi i Genitori)

ถาม หากคนไทยไม่มีรายได้หรือมีรายได้น้อยไม่เพียงพอสำหรับค่าจ้างทนาย ควรทำอย่างไร
ตอบ - ผู้ที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 11,369.24 ยูโร (ประมาณ 455,000 บาท) สามารถยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือ ทางกฎหมาย (Patrocinio a Spese dello Stato) ได้ ซึ่งรัฐบาลอิตาลีจะรับผิดชอบค่าทนายในการดำเนินคดี โดยหญิงไทยจะต้องไปยื่นเรื่องขอความเหลือทางกฎหมายด้วยตนเองหรือผ่านทนายที่แผนกรับเรื่อง (Istanza di Ammissione) ของสภาทนายความ (Consiglio dell’Ordine degli Avvocati) ของศาลที่ยื่นฟ้อง

ถาม - หญิงไทยมีบุตรนอกสมรสกับชายชาวอิตาเลียน ชายชาวอิตาเลียนรับเป็นบิดาและได้เพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้านที่อิตาลีแล้ว บุตรนอกสมรสดังกล่าวจะได้รับสิทธิอะไรจากบิดาบ้าง
ตอบ - ตามกฎหมายครอบครัวอิตาลีมาตรา 219 ลงวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 2012 กล่าวถึงการลดความแตกต่างระหว่างบุตรนอกสมรสและบุตรในสมรสว่า บุตรนอกสมรสจะได้รับสิทธิและการเลี้ยงดูจากบิดามารดาเช่นเดียวกับบุตรที่เกิดจากคู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้น บุตรนอกสมรสจะต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ความเป็นอยู่ การอบรมสั่งสอน และการให้การศึกษา จนกว่าจะบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุครบ 18 ปีบริบูรณ์

ถาม - คู่สามีภรรยาคนไทยอาศัยอยู่ในประเทศอิตาลี มีบุตรด้วยกันแต่แยกกันอยู่โดยไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมาย ฝ่ายภรรยานำบุตรกลับประเทศไทย แต่สามีต้องการให้บุตรอยู่กับตนที่อิตาลีเพื่ออนาคตการศึกษาที่ดีกว่า สามีคนไทยควรทำอย่างไร
ตอบ - คู่สมรสที่ตกลงกันไม่ได้สามารถขอให้ศาลตัดสินทางออกที่ดีที่สุดแก่บุตรได้ กรณีนี้ คู่สมรสที่แยกกันอยู่ควรดำเนินการหย่าอย่างถูกกฎหมาย จากนั้นสามีสามารถยื่นเรื่องต่อศาลขอสิทธิในการดูแลบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะแต่เพียงฝ่ายเดียว หากภรรยาอยู่ในสถานภาพที่ไม่สามารถเลี้ยงดูบัตรได้อย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม มารดาไม่สามารถนำบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะออกนอกประเทศอิตาลีโดยไม่ได้รับความยินยอมจากบิดา กรณีที่มารดาพาบุตรไปยังประเทศไทยและมีเจตนาที่จะไม่พาบุตรกลับมายังประเทศอิตาลี โดยไม่ได้รับความยินยอมจากบิดาตั้งแต่แรกนั้น มารดาอาจจะตกเป็นผู้กระทำผิดตามกฎหมายอาญาของอิตาลีมาตราที่ 574 ได้ นอกจากนี้ สามีอาจฟ้องร้องภรรยาต่อศาลในฐานความผิดตาม The Hague Convention 1980 ว่าด้วยการลักพาตัวเด็กข้ามชาติโดยผู้ปกครอง (International Parental Child Abduction)

ถาม - สามีชาวอิตาเลียนเสียชีวิตและไม่ได้ทำพินัยกรรม ทั้งคู่ไม่มีบุตรด้วยกัน สามีมีบุตรบุญธรรม 2 คน ซึ่งอดีตภรรยาเป็นผู้ดูแล ต้องแบ่งทรัพย์สมบัติกันอย่างไร ภรรยาไทยจะได้รับส่วนแบ่งหรือไม่
ตอบ - เนื่องจากสามีชาวอิตาเลียนมีบุตรบุญธรรมกับอดีตภรรยา 2 คน จึงต้องแบ่งทรัพย์สมบัติเป็น 3 ส่วนเท่า ๆ กัน (ภรรยาไทย บุตรบุญธรรมคนที่ 1 และคนที่ 2)

ถาม- ภรรยาไทยซื้อบ้านที่ประเทศไทยโดยใช้ชื่อของตนเองเพียงผู้เดียว และเปิดบัญชีร่วมกับสามีชาวอิตาเลียนที่ประเทศไทย ภรรยาไทยจะต้องแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวให้บุตรบุญธรรม 2 คนของสามีชาวอิตาเลียนหรือไม่
ตอบ- บ้านไม่ถือเป็นมรดกของสามีชาวอิตาเลียน จึงไม่ต้องแบ่งให้บุตรบุญธรรม
สำหรับเงินในบัญชีที่ประเทศไทยซึ่งใช้ชื่อร่วมกับกับสามีต้องแบ่งให้บุตรบุญธรรม โดยแบ่งร้อยละ 50 เป็นของภรรยาไทย และอีกร้อยละ 50 แบ่งเป็น 3 ส่วนสำหรับภรรยาไทย ลูกบุญธรรมคนที่ 1 และคนที่ 2

ถาม - ทนายที่ปรึกษาทางธุรกิจ (Commercialista) ของอดีตภรรยาเก่าชาวอิตาเลียน ขอให้ภรรยาไทยส่งรายการทรัพย์สินที่ประเทศไทยให้ดู ต้องปฏิบัติตามหรือไม่
ตอบ - ไม่จำเป็น เพราะทนายที่ปรึกษาทางธุรกิจไม่มีอำนาจในเรื่องนี้ ยกเว้นจะส่งจดหมายประทับตราไปรษณีย์ขอรับรายการทรัพย์สมบัติพร้อมชี้แจงเหตุผลในการขออย่างเป็นทางการ

ถาม - คนไทยอยากรับหลานมาเลี้ยงดูที่อิตาลี เนื่องจากพ่อเด็กเสียชีวิตแล้วและติดต่อแม่เด็กไม่ได้ ควรทำอย่างไร
ตอบ - ทำหนังสือขอมีสิทธิเลี้ยงดูหลานจากศาลในประเทศไทย และเดินทางเช้ามาอิตาลีโดยให้หลานทำวีซ่าขอติดตามครอบครัว เมื่อมาถึงอีตาลีแล้ว ให้ยื่นเรื่องทำ Permesso di Soggiorno (Stay Permit) ต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองใกล้บ้าน

ถาม - หญิงไทยแต่งงานกับคนอิตาเลียนมีลูกติดภรรยาหนึ่งคนจากไทย ตามกฎหมายอิตาลี สามีต้องส่งเสียลูกติดด้วยหรือไม่
ตอบ - ไม่ต้อง ตามกฎหมายอิตาลี สามีอิตาเลียนไม่ต้องส่งเสียค่าเลี้ยงดูลูกที่ไม่ได้เกิดจากตนเอง

ถาม - หญิงไทยแต่งงานกับคนอิตาเลียนและอยู่กินกันมา 9 เดือน ต่อมา หญิงไทยได้รับลูกติดของตนเอง 2 คนจากไทยมาอยู่ด้วย ระหว่างยื่นเรื่องขอทำ Permesso di Soggiorno ให้ลูก สามีได้เสียชีวิตลง จึงไม่สามารถเซ็นยินยอมในเอกสารรับดูแลลูกได้ นอกจากนี้ สามีมีทรัพย์สินเป็นบ้านซึ่งมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับพ่อสามี รถยนต์ และบัญชีธนาคาร ควรทำอย่างไรดี
ตอบ - Permesso di Soggiorno ที่ภรรยาถืออยู่จะยังสามารถใช้ต่อไปได้แม้สามีจะเสียชีวิตไปแล้วจนกว่า Permesso ดังกล่าวจะหมดอายุลง แล้วจึงไปติดต่อจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อขอต่อ Permesso แบบที่เหมาะสมต่อไป
- ตามกฎหมายอิตาลี หากผู้เสียชีวิตไม่ได้ทำพินัยกรรม ทรัพย์สินทั้งหมดจะถูกจัดสรร ดังนี้
- บ้าน : ภรรยาผู้เสียชีวิตมีสิทธิ 2 ใน 3 ของกึ่งหนึ่งมูลค่าของบ้าน และมีสิทธิในการอยู่อาศัยต่อไป ส่วนญาติผู้เสียชีวิต รวมถึงพ่อในกรณีนี้มีสิทธิ 1 ใน 3
- บัญชีธนาคาร : ภรรยามีสิทธิ 2 ใน 3 ของเงินทั้งหมดในบัญชี และญาติมีสิทธิ 1ใน 3
- การขอรับมรดกต้องร้องขอต่อศาล หากไม่สามารถไปได้ด้วยตนเอง สามารถมอบอำนาจว่าจ้างทนายให้ดำเนินการแทน

การสมรส หย่าร้าง

ถาม - หากถูกสามีทำร้ายร่างกายควรทำอย่างไร 
ตอบ – ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินการทันที อย่าปกปิด เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเรียกสามีไปตักเตือน และห้ามทำร้ายร่างกายภรรยาอีก หากสามีฝ่าฝืนจะถูกส่งฟ้องศาลเพื่อดำเนินคดีและจะได้รับโทษหนักเนื่องจากได้รับการตักเตือนแล้ว หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินในกรณีที่ถูกทำร้ายร่างกาย ได้แก่ 112 (Carabinieri), 1552 (Antiviolenza donna) และ 113 (เจ้าหน้าที่ตำรวจ) นอกจากนี้ ไม่ต้องกังวลว่า จะถูกส่งตัวกลับไทย เนื่องจากกฎหมายอิตาลีระบุว่า ระหว่างดำเนินคดีกับสามี ภรรยาที่เป็นคู่กรณีจะได้รับอนุญาตให้พำนักในอิตาลี (il permesso di soggiorno) โดยอัตโนมัติ

ถาม – หญิงไทยต้องการหย่าร้างกับสามี โดยแยกกันอยู่แล้ว 3 ปี และได้ลงนามในเอกสารซึ่งเข้าใจว่าเป็นใบรับรองการหย่าร้าง หลายปีผ่านไป จึงทราบว่าสถานะการหย่าร้างยังไม่เรียบร้อย เป็นเพราะเหตุใด และเอกสารที่ลงนามคืออะไร 
ตอบ – การหย่าร้างตามกฎหมายอิตาลี ต้องแยกกันอยู่ก่อนอย่างน้อย 3 ปี จึงจะยื่นเรื่องขอหย่าร้างได้ ในกรณีข้างต้น เป็นไปได้ว่าเอกสารที่หญิงไทยลงนามคือเอกสารแจ้งว่าการแยกกันอยู่ 3 ปีครบสมบูรณ์แล้ว ซึ่งหญิงไทยจะต้องยื่นเรื่องขอหย่าร้างต่อ แต่เพราะไม่ได้ดำเนินการต่อ สถานะการหย่าร้างจึงไม่สมบูรณ์

ถาม – การหย่าร้างโดยความยินยอมกับการฟ้องหย่า ใครจะได้สิทธิดูแลบุตร
ตอบ – ตามกฎหมายอิตาลี บิดาและมารดามีสิทธิในการดูแลบุตรเท่ากัน ศาลจะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมว่าใครควรได้สิทธินั้น โดยพิจารณาจากความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ ประวัติการดูแลบุตรในอดีต ความใกล้ชิดระหว่างบุตรกับบิดาหรือมารดา ไม่ได้พิจารณาจากฐานะทางการเงิน หลายกรณีที่ศาลพิจารณาให้บุตรอยู่ในการดูแลของมารดา เนื่องจากมีความพร้อม เวลา ความเสียสละและความใกล้ชิดกับบุตรมากกว่าบิดา ทั้งยังให้บิดารับผิดชอบค่าใช้จ่ายของบุตรหรือค่าเลี้ยงดูบุตรด้วย 
ส่วนการฟ้องหย่าต้องดำเนินการผ่านทนาย มีค่าใช้จ่ายและในอดีตใช้เวลาเบ็ดเสร็จถึง 3 ปี ล่าสุดมีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ของอิตาลีออกใหม่ ระบุว่าหากทั้งสองฝ่ายยินยอม จะใช้เวลาดำเนินการ 6 เดือน และหากเป็นการฟ้องร้องจะใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 12 เดือน

ถาม – จดทะเบียนสมรสกับสามีชาวอิตาเลียนถูกต้องตามกฎหมายอิตาลี แต่ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายไทย สามารถดำเนินการหย่าร้างกับสามีจากประเทศไทยภายใต้กฎหมายไทยได้หรือไม่ หากสามียินยอม
ตอบ – ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากเมื่อจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายอิตาลีก็ต้องหย่าตามกฎหมายอิตาลีเท่านั้น อย่างไรก็ดี หากพำนักอยู่ในไทยก็สามารถติดต่อสำนักงานทนายความในไทยให้ประสานสำนักงานทนายความในอิตาลีเพื่อดำเนินการแทนได้ หรือจะติดต่อสำนักงานทนายความที่อิตาลีโดยตรงก็สามารถทำได้

ถาม – สามารถฟ้องหย่าสามีผ่านทนายอาสาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้หรือไม่
ตอบ – หากจดทะเบียนสมรสกับสามีชาวอิตาเลียนตามกฎหมาย และประสงค์จะฟ้องหย่าโดยไม่สามารถรับผิดชอบค่าทนายได้ ให้ติดต่ออำเภอที่ตนมีถิ่นพำนักเพื่อขอหนังสือรับรองว่ามีรายได้ไม่เกิน 11,369.24 ยูโรต่อปี และขอใช้บริการทนายอาสาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ถาม – หากแต่งงานและอยู่กินกับสามีชาวอิตาเลียนโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส จะสามารถฟ้องร้องขอรับค่าดูแลบุตรหลังจากแยกทางกันได้หรือไม่
ตอบ – กฎหมายอิตาลีไม่ได้ระบุไว้ แต่หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นบุตรของตนเองกับสามีชาวอิตาเลียนจริง ศาลจะสามารถสั่งให้บิดาหรือมารดาผู้มีรายได้ให้ส่งเสียเลี้ยงดูบุตรได้ สำหรับภรรยาซึ่งไม่มีหลักฐานการจดทะเบียนตามกฎหมาย หากจะขอรับค่าเลี้ยงดูต้องต่อรอง/หารือกับสามี

ถาม - หญิงไทยมีลูกกับแฟนเก่าชาวอิตาเลียน แต่ได้แยกกันอยู่หลายปีแล้ว แฟนเก่าชาวอิตาเลียนยังคงส่งค่าเลี้ยงดูบุตรเป็นครั้งคราว หญิงไทยจะแต่งงานกับแฟนใหม่ แฟนเก่าจะสามาถคัดค้านการแต่งงานได้หรือไม่
ตอบ - ไม่ได้ เพราะหญิงไทยไม่ได้มีพันธะทางกฎหมายกับแฟนเก่า (ไม่ได้จดทะเบียนสมรส) ถึงแม้จะมีบุตรด้วยกันก็ตาม

ถาม - สามีทำร้ายจิตใจและไม่ดูแลเอาใจใส่ภรรยา สามารถฟ้องหย่าสามีได้หรือไม่
ตอบ - ได้ ตามกฎหมายอิตาลีว่าด้วยการหย่าร้างระหว่างบุคคลสัญชาติอิตาลีกับชาวต่างชาติ มาตรา 218 ค.ศ. 1995 ข้อที่ 28 - 37 (Legge n. 218 del 1995 Artt. 28-37) และว่าด้วยเรื่องการแต่งงานในอิตาลีระหว่างชาว อิตาเลียนกับชาวต่างชาติ การฟ้องหย่าสามารถกระทำได้โดยยื่นคำร้องขอแยกกันอยู่ที่ศาล แต่ทั้งคู่ต้องจดทะเบียนสมรสที่อิตาลี การทำร้ายจิตใจและการไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากคู่สมรสเป็นสาเหตุหนึ่งที่สามารถใช้เป็นเหตุผลในการฟ้องหย่าได้

ถาม - หญิงไทยแต่งงานกับชายชาวอิตาเลียนเป็นเวลา 14 ปี แต่แยกกันอยู่เป็นเวลา 7 ปี ไม่ได้ยื่นเรื่องขอแยกกันอยู่ต่อศาลอย่างเป็นทางการ หญิงไทยจะสามารถยื่นขอแยกกันอยู่กับสามีได้อีกหรือไม่
ตอบ - ได้ เพราะโดยทั่วไปหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายของคู่สมรสไม่มีความสมัครใจที่จะใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันแล้ว สามารถยื่นเรื่องขอแยกกันอยู่ได้ และกรณีนี้คู่สามีภรรยาได้แยกกันอยู่อยู่แล้ว จึงเป็นไปได้ที่ศาลจะตัดสินให้แยกกันอยู่ตามข้อเท็จจริง

ถาม - หญิงไทยแต่งงานกับชาวอิตาเลียนในไทยโดยถือใบอนุญาตขอมีถิ่นพำนักแบบแต่งงานเพื่ออยู่ในอิตาลีและจะหมดอายุอีก 2 ปี หากหย่ากับสามีแล้วจะสามารถอยู่ต่อที่อิตาลีได้หรือไม่ ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
ตอบ -ได้ โดยหญิงไทยต้องยื่นเรื่องขอเปลี่ยนใบอนุญาตมีถิ่นพำนักจากแบบแต่งงานเป็นแบบทำงานหรือแบบเรียนโดยต้องยื่นสัญญาการจ้างงานหรือใบรับรองการลงทะเบียนจากสถานศึกษา

ถาม - หญิงไทยตั้งครรภ์และต่อมาได้แต่งงานกับชาวอิตาเลียน สามีชาวอิตาเลียนได้ลงชื่อรับเป็นบิดาของเด็ก ในสูติบัตร ถึงแม้จะไม่ใช้ลูกแท้ ๆ ของตน หลังการหย่าหญิงไทยสามารถเรียกร้องค่าเลี้ยงดูบุตรจากสามีชาวอิตาเลียนได้หรือไม่
ตอบ - หญิงไทยสามารถยื่นฟ้องขอค่าเลี้ยงดูให้ตนและบุตรหลังการหย่าได้ ซึ่งโดยทั่วไปศาลจะตัดสินให้คู่สมรสที่มีรายได้มากกว่าเป็นฝ่ายรับผิดชอบค่าเลี้ยงดูบุตรและบางครั้งอาจรับผิดชอบค่าเลี้ยงดูแก่ภรรยาด้วย แต่หากภรรยามีรายได้ สามีอาจยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อขอลดหรือไม่ชำระค่าเลี้ยงดูแก่ภรรยาได้
อย่างไรก็ดี หากสามีชาวอิตาเลียนอ้างว่าไม่ใช่ลูกของตนก็จะไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตร

ถาม - หญิงไทยอาศัยอยู่กับสามีอิตาเลียน และถูกข่มขู่จะทำร้ายร่างกายจากแฟนเก่าชาวอิตาเลียน ควรทำอย่างไร
ตอบ - แนะนำให้แจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อลงบันทึกไว้ และให้ทนายของฝ่ายสามีดำเนินการต่อไป

ถาม - ภรรยาสงสัยว่าสามีชาวอิตาเลียนนอกใจ กลัวว่าตนเองจะถูกไล่ออกจากบ้านหรือกลับไทย เนื่องจากตนเองไม่มีรายได้ ควรทำอย่างไร
ตอบ - หากจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายอิตาลี แม้ไม่มีรายได้หรือไม่มีที่อยู่ของตนเอง ภรรยามีสิทธิอาศัยอยู่ในบ้านของสามีได้จนกว่าจะสามารถเลี้ยงดูตนเองได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล

ถาม - หญิงไทยอยู่กินกับชายชาวอิตาเลียนที่ไทยโดยไม่จดทะเบียนสมรส ต่อมา เมื่อมีบุตรสาวด้วยกัน ชายชาวอิตาเลียนหนีกลับอิตาลี หญิงไทยได้ฟ้องร้องต่อศาลไทย โดยศาลไทยได้ตัดสินว่า สามีต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 15,000 บาท (ก่อนครบ 4 ปีบริบูรณ์) และเดือนละ 20,000 บาท (หลังจากอายุ 4 ปีเป็นต้นไป) แต่ไม่สามารถติดตามตัวชายชาวอิตาเลียนได้ ควรทำอย่างไร
ตอบ - ติดต่อทนายความในไทยเพื่อทำเรื่องส่งคำร้องในคดีมายังอิตาลี โดยผ่านทนายความชาวอิตาเลียน เพื่อศาลอิตาลีจะได้ติดตามตัวชายคนดังกล่าวมารับทราบข้อกล่าวหาและบังคับให้จ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรต่อไป และหากหญิงไทยจะเดินทางมาอิตาลีเพื่อดำเนินเรื่องฟ้องร้องด้วยตนเองก็สามารถกระทำได้ แต่จะมีค่าใช้จ่ายสูงและอาจใช้ระยเวลานาน

ถาม - หญิงไทยแต่งงานจดทะเบียนสมรสกับคนอิตาเลียน อยู่กินกันมาแล้ว 9 ปี หากหย่าร้างกับสามี หญิงไทยจะได้รับสิทธิในการเลี้ยงดูลูกหรือไม่ และหากต้องการอาศัยอยู่ต่อในอิตาลีต่อไปจะทำได้หรือไม่
ตอบ - ตามกฎหมายอิตาลี สามีต้องส่งเสียลูกและภรรนาจนกว่าลูกจะบรรลุนิติภาวะ (อายุครบ18ปีบริบูรณ์) หรือจนกว่าลูกจะสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ หรือจนกว่าภรรยาจะประกอบอาชีพมีรายได้หรือมีที่อยู่เป็นของตัวเอง

ถาม - หญิงไทยแต่งงานกับคนอิตาเลียนที่อิตาลีจะสามารถทำเรื่องหย่าที่ไทยได้หรือไม่
ตอบ - ไม่ได้ หากจดทะเบียนตามกฎหมายอิตาลี จะต้องหย่าร้างที่อิตาลีเท่านั้น

ถาม - หญิงไทยพร้อมสามีชาวอิตาเลียนและลูก เดินทางกลับไปทำกิจการที่ไทย ต่อมา สามีพาลูกเดินทางกลับมาอิตาลีและฟ้องหย่าภรรยาและขอมีสิทธิปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว โดยอ้างว่าภรรยาทำงานจนไม่มีเวลาดูแลลูก ควรทำอย่างไร
ตอบ - ติดต่อทนายฟรีใกล้บ้าน (Avv. Gratuito Patrocinio) หากไม่สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายได้ เพื่อทำข้อตกลงในการเลี้ยงดูบุตร ห้ามลงนามเอกสารใด ๆ ที่ไม่เข้าใจเนื้อหาโดยเด็ดขาด และห้ามย้ายออกจากบ้านที่อยู่อาศัยกับสามีและบุตร เพราะอาจถูกใช้เป็นข้ออ้างว่าหญิงไทยบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่

การขอรับเงินบำนาญของคู่สมรส

ถาม - หลังจากบิดาเสียชีวิต สำนักงานประกันสังคม (INPS) ได้อายัติเงินบำนาญของบิดาไว้ ครอบครัวที่ไทยได้ทำเรื่องติดต่อขอรับเงินบำนาญแต่ยังไม่คืบหน้า ควรทำอย่างไร
ตอบ - ติดต่อสอบถามความคืบหน้าจาก INPS โดยสามารถทำได้หลายช่องทาง เช่น โทรศัพท์ อีเมล์ หรือ SKYPE

การพักอาศัย / ทำงานหรือประกอบกิจการในอิตาลี

ถาม - รับจ้างทำงานบ้านให้นายจ้างชาวอิตาเลียน แอบเปิดดูข้อความแชทในคอมพิวเตอร์ของนายจ้าง พบว่า นายจ้างมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่นนอกจากภรรยาของตน ควรทำอย่างไร
ตอบ - ไม่ควรเปิดดูข้อความหรือเอกสารส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยเด็ดขาด เนื่องจากถือเป็นความผิดทางอาญาข้อหาละเมิดสิทธิส่วนบุคคล อาจถูกลงโทษปรับหรือจำคุกได้หากถูกนายจ้างฟ้องร้อง ส่วนเรื่องที่นายจ้างมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่นนอกจากภรรยาตนนั้นควรถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของนายจ้าง ไม่เกี่ยวข้องลูกจ้างในฐานะแม่บ้าน

ถาม - ต้องการจ้างพ่อครัวจากไทยมาทำงานในอิตาลี แต่ได้รับแจ้งสำนักงานแรงงานเมือง Jesolo ว่า ขณะนี้อิตาลียังไม่มีนโยบายเปิดรับแรงงานต่างชาติประเภทพ่อครัว หมายความว่าอย่างไร
ตอบ - โดยปกติ รัฐบาลอิตาลีจะเปิดรับแรงงานต่างชาติให้เข้ามาทำงานตามนโยบายหรือโควตาที่รัฐบาลกำหนด ไว้ในแต่ละปี โดยให้ความสำคัญกับแรงงานต่างชาติรวมทั้งผู้อพยพที่กำลังหางานทำในอิตาลีก่อน แล้วจึงเปิดโควตารับแรงงานจากต่างประเทศเพิ่มเมื่อมีความต้องการ ทั้งนี้ ผู้ร้องควรติดตามข่าวสารหรือสอบถามสำนักงานแรงงานในเขตที่พักอาศัยเป็นระยะ

ถาม -  เมื่อลาออกจากงาน ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนอะไรบ้าง
ตอบ - เนื่องจากสัญญาจ้างงานในอิตาลีมีหลายประเภท แนะนำให้ลูกจ้างติดต่อสำนักงานสาขาของสหภาพแรงงานอิตาลี  (Confederazione Generale Italiana del Lavoro- CGIL) ด้วยตนเอง ต้องเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานอิตาลี (ค่าทำบัตรสมาชิกประมาณ 40 - 80 ยูโร ต่อปี) สำนักงานฯ จะช่วยคำนวณเงินค้างจ่ายที่นายจ้างจะต้องจ่ายแก่ลูกจ้างเมื่อสิ้นสุดการจ้างงาน เช่น

  • เงินเดือนเดือนที่ 13 (หากไม่มีในใบแจ้งเงินดือน)
  • เงินเดือนเดือนที่ 14 (หากไม่มีในใบแจ้งเงินเดือน)
  • เงินสะสม (Trattamento di Fine Rapporto- TFR)
  • หรือเงินพึงได้อื่น ๆ

สำนักงานสหภาพแรงงานอิตาลีจะออกใบคำนวณเงินสะสมตลอดการทำงาน (Conteggio di Liquidazione) ซึ่งจะระบุจำนวนเงินที่นายจ้างจะต้องจ่ายแก่ลูกจ้าง 

ถาม - นายจ้างไม่ยอมจ่ายเงินสะสมให้แก่ลูกจ้าง ควรทำอย่างไร
ตอบ - ลูกจ้างสามารถนำใบคำนวณเงินสะสมตลอดการทำงานจากสำนักงานสาขาของสหภาพแรงงานอิตาลีไปเจรจาต่อรองกับนายจ้างได้ หากนายจ้างไม่ยอมจ่าย ลูกจ้างสามารถกลับไปที่สำนักงานสหภาพแรงงาน เพื่อขอใช้ทนายดำเนินการฟ้องร้องนายจ้าง ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่าย

ถาม - ต้องการเปิดร้านอาหารจานด่วน ควรติดต่อหน่วยงานใด
ตอบ - การเปิดร้านอาหารจานด่วนจะต้องมีใบอนุญาตการเปิดกิจการสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม (la licenza per la somministrazione di alimenti e bevande) ซึ่งเจ้าของกิจการต้องศึกษาหลักสูตร ex-rec ที่จัดโดยสำนักงานประจำแคว้น (Uffici della Regione) โดยสามารถสอบถามรายละเอียดและขั้นตอนได้ที่สำนักงานประจำแคว้น ซึ่งอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกันในแต่ละแคว้น

ถาม - ต้องการเปิดร้านนวดแผนไทย ควรติดต่อหน่วยงานใด
ตอบ - สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ที่ว่าการอำเภอ (Comune) ในท้องที่ อาจจะมีขั้นตอนและรายละเอียดที่แตกต่างกัน โดยทั่วไปการเปิดร้านนวดแผนไทยจะต้องมีใบอนุญาตเปิดร้าน (la qualificazione professionale di estetica) ซึ่งผู้ประกอบการต้องเข้าอบรมหลักสูตรบังคับของอิตาลีเป็นเวลา 3 ปี หรือหากมีประสบการณ์ทำงานและเสียภาษีอย่างถูกต้องมาแล้วอย่างน้อย 5 ปี จะอบรมเพียง 6 เดือน

ถาม - วีซ่าท่องเที่ยวหมดอายุแล้ว สามารถเปลี่ยนเป็นวีซ่าทำงาน เพื่อขออยู่ต่อในอิตาลีได้หรือไม่
ตอบ - ไม่ได้ เนื่องจากวีซ่าหมดอายุแล้ว ต้องเดินทางกลับไทยเพื่อขอวีซ่ากลับเข้ามาอิตาลีใหม่ โดยอาจจะขอเป็น วีซ่าทำงาน หรือวีซ่าประเภทติดตามครอบครัวกรณีที่มีญาติพี่น้องมาอยู่ที่อิตาลีเป็นเวลานานหรือมีถิ่นพำนักถาวร การลักลอบอาศัยอยู่ในอิตาลี อาจถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมและดำเนินคดีก่อนส่งตัวกลับไทย และอาจถูกขึ้นบัญชีบุคคลต้องห้ามเข้าอิตาลี

ถาม - อาศัยอยู่อิตาลีมาหลายปีต้องการขอหนังสือเดินทางอิตาลีต้องทำอย่างไรบ้าง
ตอบ - หนังสือเดินทางอิตาลีออกโดยทางการอิตาลี จะต้องไปติดต่อขอข้อมูลเกี่ยวกับเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการขอหนังสือเดินทางอิตาลี และยื่นคำร้องที่ที่ว่าการอำเภอ (Prefettura)

ถาม - มารดาทำงานอยู่ที่อิตาลีต้องการให้บุตรสาวอายุ 16 ปี มาอยู่ด้วย ควรขอวีซ่าประเภทใด
ตอบ - แนะนำให้ขอวีซ่าประเภทติดตามครอบครัว เพราะบุตรสาวยังไม่บรรลุนิติภาวะ แล้วจึงมาขอใบอนุญาตมีถิ่นพำนักในอิตาลี (Permesso di Soggiorno)

ถาม - หญิงไทยติดตามมารดาไทยมาอยู่อิตาลีเป็นเวลา 8 ปี และอยู่กินกับชายชาวอิตาเลียนโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส จะสามารถขอสัญชาติอิตาลีได้หรือไม่
ตอบ - ไม่ได้ การขอสัญชาติอิตาลีสามารถทำได้ 2 กรณี คือ

1. มีใบรับรองการทีถิ่นที่อยู่ในอิตาลีเป็นเวลารวมกันมากกว่า 10 ปีขึ้นไป
2. จดทะเบียนสมรสกับคนอิตาเลียนมากกว่า 2 ปีขึ้นไป

ถาม - นายจ้างจะเลิกจ้างงานโดยที่สัญญาจ้างงานยังไม่หมดอายุเพราะปิดกิจการ ลูกจ้างมีสิทธิอะไรบ้าง
ตอบ - ตามกฎหมายอิตาลี นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชย (il trattamento di fine rapporto – TFR) ให้ลูกจ้าง และชดเชยค่าเสียหายกรณีปิดกิจการ แต่หากเจ้าของเดิมขายกิจการต่อ เจ้าของร้านคนใหม่ต้องรับพนักงานเก่าเข้าทำงานโดยอัตโนมัติ

ถาม - ก่อนเข้าพักอาศัยในบ้านคนไทยได้ทำสัญญาว่าได้รับบ้านในสภาพที่สมบูรณ์ ต่อมาเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง ได้ย้ายออกและไม่ได้ทำหนังสือมอบบ้านคืนให้กับเจ้าของ เจ้าของบ้านจึงยึดเงินมัดจำทั้งหมด โดยอ้างว่าเป็นค่าซ่อมแซมบ้านให้อยู่ในสภาพเดิม (สภาพที่สมบูรณ์) ควรทำอย่างไร
ตอบ - เจ้าของบ้านไม่มีสิทธิยึดเงินมัดจำ แต่เนื่องจากได้ลงนามรับบ้านในสภาพที่สมบูรณ์ เมื่อคืนบ้านก็ต้องคืนในสภาพเดียวกัน ดังนั้น อาจต้องทาสีหรือซ่อมแซมบ้านตามที่เจ้าของร้องขอและให้เจ้าของบ้านคืนเงินมัดจำทั้งหมดให้ หากเจ้าของบ้านไม่ยินยอม ต้องฟ้องร้องผ่านทนาย

ถาม - คนไทยที่ไม่มี Permesso di Soggiorno/Residenza ที่อิตาลี สามารถซื้อห้องชุดในอิตาลีได้หรือไม่

ตอบ - สามารถซื้อได้ แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 40 ของจำนวนห้องชุดในอาคารเดียวกัน ทั้งนี้ ต้องซื้อห้องชุดผ่าน Notary Public

ถาม - คนไทยอยากจะเปิดร้านขายของชำออนไลน์ในอิตาลี มีขั้นตอนการขออนุญาตอย่างไรบ้าง
ตอบ - ติดต่อขออนุญาตจาก Camera di Commercio ตามอำเภอในท้องที่ที่อยู่อาศัย

ถาม - หญิงไทยถูกเจ้าของกิจการเป็นหญิงชาวอิตาเลียนบังคับให้ลาออกโดยสัญญาจ้างงานยังไม่หมดอายุเนื่องจากหึงหวงสามีของตนเอง ควรทำอย่างไร
ตอบ - ไม่ว่าจะเป็นกรณีให้ออกหรือลาออกเอง เจ้าของกิจการต้องจ่ายเงินชดเชยให้หญิงไทยตามจำนวนเดือนที่เหลือในสัญญาจ้างงาน หากเจ้าของกิจการไม่ยินยอม หญิงไทยสามารถทำงานได้เหมือนเดิมจนกว่าสัญญาจ้างงานจะหมดอายุ แต่หากเจ้าของกิจการกีดกันโดยใช้กำลังหรือบีบบังคับก็สามารถแจ้งความเอาผิดเจ้าของกิจการได้

ข้อควรรู้สำหรับหญิงไทยที่จะแต่งงานกับคนอิตาเลียน

1. การรู้ภาษาอิตาเลียน เป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิตหลังแต่งงานในอิตาลี เนื่องจากคนอิตาเลียนส่วนมากไม่ใช้ภาษาอื่นในการสื่อสาร หรือบางครั้งแม้จะสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ก็ยังเลือกที่จะสื่อสารด้วยภาษาอิตาเลียน ดังนั้น หากท่านตัดสินใจที่จะแต่งงานกับชายชาวอิตาเลียนแล้ว อย่างน้อยท่าน ควรศึกษาภาษาอิตาเลียนในระดับที่สามารถสื่อสารในเบื้องต้นได้ หญิงไทยที่แต่งงานกับชายชาวอิตาเลียนจำนวนมากที่ไม่รู้ภาษาอิตาเลียนมักจะประสบปัญหาการใช้ชีวิตและปัญหาครอบครัว เช่น การไม่มีกลุ่มเพื่อนในละแวกบ้าน การไม่สามารถติดต่อราชการหรือดำเนินการด้านเอกสารต่อทางการอิตาลีได้ การมีปัญหาภายในครอบครัวเนื่องจากความเข้าใจผิด จนบางครั้งเกิดปัญหาระหองระแหงและเลิกรากันไปในที่สุด เป็นต้น ครั้นจะจ้างล่ามก็มีค่าใช้จ่ายที่สูง และไม่สามารถหาล่ามได้ทันทีหรือตลอดเวลา

2. ปัญหาด้านการเงิน ชายหญิงชาวอิตาเลียนมีวัฒนธรรมการเก็บรักษาเงินรายได้ที่หามาได้แบบของใครของมัน ไม่ก้าวก่ายเงินรายได้ของกันและกัน ยกเว้นเรื่องที่เป็นค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่ากิน ของใช้ภายในครัวเรือน เป็นต้น จะมีการตกลงกันชัดเจนว่าใครจะต้องสมทบเป็นสัดส่วนเท่าใด ดังนั้น หากหญิงไทยแต่งงานกับชายชาวอิตาเลียนแล้วคาดหวังว่า ชายชาวอิตาเลียนจะเลี้ยงดูอย่างดี ให้เงินจับจ่ายซื้อของได้ตามที่ต้องการเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากหญิงไทยไม่ได้ประกอบอาชีพหรือ มีรายได้ก็จำเป็นต้องพึ่งพาสามีในเรื่องค่าใช้จ่าย หลายครั้งจึงตกอยู่ใต้อาณัติของสามีโดยไม่เต็มใจ ถูกข่มขู่ พูดจาไม่ดี ทำร้ายร่างกายและจิตใจ แต่ยังคงทนอยู่ไปเช่นนั้น เนื่องจากหญิงไทยไม่มีทางออกอื่น บางรายต้องการจะเดินทางกลับไทยก็ยังไม่มีแม้แต่ค่าตั๋วเครื่องบิน

3. การหย่าร้าง ขั้นตอนและระยะเวลาในการหย่าร้างตามกฎหมายอิตาลีซับซ้อนกว่าการหย่าร้างตามกฎหมายไทย ในประเทศไทยหากฝ่ายหญิงและฝ่ายชายตกลงกันได้ว่าจะหย่าร้างก็สามารถเดินทางไป จดทะเบียนหย่าต่อหน้าเจ้าหน้าที่ได้ แต่ในอิตาลีหากท่านต้องการจะหย่าร้าง จะต้องจ้างทนายเพื่อดำเนินการด้านเอกสารแทนท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากท่านไม่รู้ภาษาอิตาเลียน โดยก่อนจะหย่าร้างได้ ศาลจะมีคำสั่งให้แยกกันอยู่ก่อนเป็นระยะเวลา 6 เดือน – 3 ปีแล้วแต่กรณี การมีบุตรร่วมกันจะทำให้ขั้นตอนและระยะเวลาในการหย่าร้างซับซ้อนและนานขึ้นอีก หลายกรณีหญิงไทยเดินทางกลับไปอยู่ที่ไทยโดยไม่ดำเนินการหย่าร้างให้เสร็จสิ้นหรือเข้าใจผิดว่าการที่ศาลสั่งให้แยกกันอยู่คือการหย่าร้างที่สมบูรณ์แล้ว ในกรณีนี้ สามีชาวอิตาเลียนมีสิทธิที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายและขอมีสิทธิปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียวได้ เนื่องจากภรรยาบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ภรรยาและมารดาของบุตร

4. สังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน สังคมอิตาลีแตกต่างจากสังคมไทยหลายประการ โดยเฉพาะ อย่างยิ่งการใช้ชีวิตแบบสันโดษหรือการใช้ชีวิตโดยไม่พึ่งพาคนอื่น ซึ่งหญิงไทยที่แต่งงานและมาอยู่อาศัย ในประเทศอิตาลีต้องใช้เวลาปรับตัวพอสมควร แต่หากท่านไม่มีเพื่อนฝูงหรือไม่สามารถสื่อสารภาษา อิตาเลียนได้ จะทำให้ชีวิตของหญิงไทยในช่วงแรกค่อนข้างเงียบเหงาและยากลำบาก ยิ่งถ้าเกิดความเข้าใจผิดหรือความขัดแย้งภายในครอบครัวก็จะยิ่งไม่อยากใช้ชีวิตในอิตาลีต่อและเดินทางกลับไทยในที่สุด

5. นักท่องเที่ยวชาวอิตาเลียน ที่เดินทางไปท่องเที่ยวในไทยไม่ได้มีฐานะร่ำรวยทุกคน ส่วนใหญ่เป็นคน ในวัยทำงาน ทำงานเก็บเงินได้จำนวนหนึ่งก็จะนำเงินดังกล่าวไปใช้ที่ไทยอย่างเต็มที่เป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เนื่องจากค่าครองชีพในไทยไม่สูงและระหว่างการพักผ่อน คนอิตาเลียนจะใช้จ่ายอย่างเต็มที่ หลายครั้งทำให้หญิงไทยที่รู้จักหรือพบปะคิดว่าชายชาวอิตาเลียนเหล่านั้นมีฐานะทางการเงินและทางสังคมสูง หลายคน จึงอยากจะใช้เป็นช่องทางลัดในการยกระดับฐานะทางการเงินและทางสังคมของตนเอง ความเชื่อดังกล่าวเปรียบเสมือนการเสี่ยงโชค ซึ่งหลายกรณีลงเอยด้วยความล้มเหลวในการใช้ชีวิตคู่ การถูกคุกคามทำร้ายร่างกาย การตรากตรำทำงานในอิตาลีเพื่อหาเงินรายได้มาจุนเจือครอบครัว เป็นต้น

ตัวอย่างของรายได้และรายจ่ายในการอยู่อาศัยในอิตาลี
รายได้
- เงินเดือนเฉลี่ยของชาวอิตาเลียน (ช่วงอายุระหว่าง 30 – 40 ปี) 1,500 ยูโร
รายจ่าย
- ค่าเช่าบ้าน/ค่าผ่อนบ้าน 700 ยูโร
- ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง 70 ยูโร
- ค่ากินอยู่ 400 ยูโร
- ค่าเดินทาง 200 ยูโร
- ค่าน้ำ ไฟฟ้า และโทรศัพท์ 150 ยูโร
- ค่าใช้จ่ายส่วนตัว 200 ยูโร
รวมทั้งสิ้น 1,720 ยูโร
คงเหลือ (ติดลบ) - 220 ยูโร
หมายเหตุ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวยังไม่รวมกรณีที่มีบุตร

web-booking-01 mod

ควิกลิ้งค์

visa application th
official holidays th
hotline
form
faq
faq
immigration th

Follow us on:

fb icon tweeter

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม มีช่องทางการสื่อสารเพิ่มอีก 1 ช่องทาง คือ Twitter ซึ่งมีข่าวสำคัญจากสถานทูตฯ และกระทรวงการต่างประเทศ ขอเชิญ follow ได้ที่ Twitter Thailand in Italy หรือตามลิงค์นี้ https://twitter.com/RTERome

Follow us on Twitter Thailand in Italy the official account of the Royal Thai Embassy in Rome at https://twitter.com/RTERome.

thai community

thai select


negozi thai food

Who's Online

มี 22 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์